จับเทรนด์ Recommerce 2.0 พร้อมทิศทางและโอกาส ของสตาร์ทอัพสินค้า รียูส-มือสอง
ในแต่ละกิจกรรมของ 88 SANDBOX เรามักจะเจอน้อง ๆ สตาร์ทอัพ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจแก้ไขปัญหาเพื่อสิ่งแวดล้อม และมาในรูปแบบไอเดียลดการซื้อของใหม่ เพิ่มการใช้ของมือสองที่ยังสภาพดี ในขณะเดียวกัน เรื่องนี้ก็ยังเป็นเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่างน่าสนใจ
.
ถ้าอยากลุยทำสตาร์ทอัพเพื่อสังคมดี ๆ แบบนี้ ต้องไม่พลาดข้อมูลเทรนด์ Recommerce 2.0 ที่ 88 SANDBOX หามาฝากกัน
– Recommerce 2.0 ยุคทองของมือสอง
หลังการแพร่ระบาดของ Covid-19 ธุรกิจ Recommerce หรือการขายสินค้ามือสอง กลับมาเติบโตอย่างมาก จากการวิเคราะห์ข้อมูลโดย Global Data ในปี 2023 ที่ประเมินว่าตลาด Recommerce ทั่วโลกมีมูลค่าสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาท นับเป็นเทรนด์ธุรกิจที่ช่วยส่งเสริมสิ่งแวดล้อม ด้วยการลดขยะ และนำสิ่งที่ยังใช้ได้มาเปลี่ยนมือเจ้าของ
.
นอกจากนี้ ช่องทางออนไลน์ ถือเป็นตัวเลือกหลักที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่เลือกใช้ ข้อมูลจาก Voice of the Consumer: Sustainability Survey โดย Euromonitor พบว่า ผู้บริโภคกว่า 51% เลือกซื้อสินค้ามือสองผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว ไม่ต้องเดินทางไปห้างสรรพสินค้าหรือร้านค้า
.
แพลตฟอร์มซื้อขายมือสองที่เปลี่ยนจากตลาดทั่วไป มาสู่ออนไลน์ที่เติบโตก้าวกระโดด ทำให้ Recommerce ก้าวสู่ยุค 2.0 แล้วนั่นเอง
.
– แนวโน้มผู้บริโภคและธุรกิจให้ความสำคัญจริงจัง
ด้วยการเติบโตของเทรนด์ Recommerce ที่มาแรงอย่างต่อเนื่อง ทำให้จำนวนผู้ซื้อและผู้ขายสินค้ามือสองผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ภาคธุรกิจก็เล็งเห็นโอกาสสำคัญในการขยายการเติบโตไปยังผู้บริโภคที่ง่ายและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
.
สะท้อนได้จากข้อมูลของ Euromonitor ที่ระบุว่า นักช็อปกว่า 37% มีแนวโน้มจะเลือกซื้อของมือสองมากขึ้น เพราะมีสินค้าให้เลือกซื้อมากมาย ราคาไม่แพง ในขณะที่ 56% ของภาคธุรกิจมีแผนที่จะลงทุนในธุรกิจ Recommerce เพื่อสร้าง Circular Economy หรือ เศรษฐกิจหมุนเวียน ในอีก 5 ปี ข้างหน้า ที่จะมีมูลค่าเศรษฐกิจสูงถึง 12 ล้านล้านบาทเลยทีเดียว
.
– Young Gen เห็น Value มากที่สุด
สภาพเศรษฐกิจ ทำให้การช็อปของฟุ่มเฟือยเป็นเรื่องคิดหนัก โดยเฉพาะกลุ่ม Young Gen ที่ยังไม่มีรายได้ หรือมีรายได้ไม่มาก ประกอบกับทัศนคติเรื่องการให้ความสำคัญสิ่งแวดล้อม การไม่บริโภคล้นเกิน ทำให้การรียูสตอบโจทย์กลุ่ม Young Gen
.
ข้อมูลจาก Euromonitor ชี้ว่า ปี 2023 วัย Gen Z 59% และวัย Millennial 57% เป็นกลุ่ม Second-Hand Shoppers โดยกลุ่ม Millennial เชื่อว่าการซื้อของมือสองมาใช้ เป็นการสร้างผลกระทบที่ดีให้แก่โลก ในขณะที่กลุ่ม Gen Z มองเรื่องความคุ้มค่าและสบายกระเป๋าเป็นหลัก
– กลุ่มรีเทล เคลื่อนไหวมากที่สุด
เมื่อเทรนด์ลูกค้าเปลี่ยนแปลง ธุรกิจก็ย่อมเปลี่ยนตาม ธุรกิจรีเทล หรือธุรกิจค้าปลีกเป็นกลุ่มที่พยายามปรับตัวมากที่สุด เพราะตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด คือตั้งแต่ 2017 เป็นต้นมา คนก็เริ่มเดินห้างกันน้อยลง จากแพลตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ต่าง ๆ ที่เติบโตมากขึ้น ทำให้เดินห้างหาของใหม่น้อยลง
.
ธุรกิจรีเทลโดยเฉพาะกลุ่มแฟชัน จึงพยายามออกกลยุทธ์เพื่อปรับตัว ไม่ว่าจะเป็น
.
– Buy Back Programmes – ลูกค้าสามารถคืนสินค้าที่ใช้แล้วได้ โดยแลกเป็นเครดิตหรือส่วนลดในการซื้อสินค้าใหม่ เพื่อให้ร้านสามารถนำไปรีไซเคิล หรือซ่อมแซมและขายในแพลตฟอร์มมือสองได้ เช่น Buyback & Resell โดย Ikea, Worn Wear โดย Patagonia, Rewear โดย H&M
– C2C ลูกค้าแลกเปลี่ยนกันเอง – นอกจากจะส่งกลับให้แบรนด์โดยตรงแล้ว ยังมีแพลตฟอร์มที่รองรับการแลกเปลี่ยน ซื้อ-ขายสินค้ากันเองระหว่างลูกค้า เช่น eBay, Xianyu, Vinted, ThredUp เป็นต้น
.
นอกจากนี้ ยังมีตัวอย่างสตาร์ทอัพที่หันมาจับเทรนด์ Recommerce 2.0 แล้วเติบโตอย่างต่อเนื่อง
.
Xianyu แพลต์ฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสองที่ใหญ่ที่สุดของจีน ที่นอกจากทำแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้ามือสองแล้ว ยังเปิดพื้นที่สำหรับพูดคุยและสื่อสารเกี่ยวกับเทรนด์ใหม่ๆ โดยมีผู้ใช้งานมากถึง 500 ล้านบัญชี และส่วนใหญ่เป็นลูกค้าในกลุ่ม Gen Z ที่มีแนวโน้มเลือกซื้อสินค้าผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น
.
Vinted สตาร์ทอัพสัญชาติลิทัวเนีย ที่เปิดแพลตฟอร์มขายเสื้อผ้ามือสองมาตั้งแต่ปี 2008 และกลายเป็นผู้นำเทรนด์ Recommerce ในยุโรป ได้ขยาย Community ที่มีลูกค้ามากถึง 75 ล้านคน เนื่องจากเป็นสตาร์ทอัพที่ออกกลยุทธ์เพื่อเน้นให้ลูกค้าสนใจสินค้ามือสองใหม่ๆ เหมือนกับตามล่าสมบัติ โดยทำรายได้ในปี 2022 ไปกว่า 1.4 หมื่นล้านบาท คิดเป็นยอดขายที่เติบโตถึง 51%
.
Taitonetti Oy แบรนด์ที่เติบโตขึ้นมาจากร้านเกมเล็กๆ ในฟินแลนด์ แต่สามารถซ่อมคอมพิวเตอร์เกมมิ่งและโน๊ตบุ๊คเก่าให้กลับมาใช้งานได้ เกิดเป็นธุรกิจขายคอมพิวเตอร์มือสองชั้นนำ ที่พ่วงการรับประกันสินค้าถึง 1 ปี ซึ่งถือว่าตอบโจทย์ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าเทคใหม่ๆ ที่มีราคาสูง และปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ทำให้สินค้าเทคมือสองเป็นทางเลือกใหม่สำหรับผู้บริโภคในปัจจุบัน
.
จะเห็นได้ว่า ธุรกิจรูปแบบ Recommerce ยังคงได้รับความนิยมจากผู้บริโภคยุคใหม่ โดยเฉพาะวัย Gen Z และวัย Millennial ซึ่งถือเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม ลดการซื้อสินค้าใหม่ และต้องการใช้เงินให้คุ้มค่ามากที่สุด ตลอดจนเข้าถึงเทคโนโลยีหรือดิจิทัลแพลตฟอร์มใหม่ๆ นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสตาร์ทอัพรุ่นใหม่ที่อยากจับเทรนด์ Recommerce 2.0 ไปต่อยอดได้ในอนาคต
.
ที่มา : Euromonitor International 2024, Forbes, Xianyu, Vinted, Taitonetti Oy