ธุรกิจสตาร์ทอัพ ก้าวขึ้นมาเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ที่สร้างประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ สะท้อนถึงความคิดสร้างสรรค์ ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสร้างนวัตกรรม และการสร้างตลาดงาน กระทั่งหลายประเทศเล็งเห็นถึงความสำคัญ เริ่มจับจ้องและสนใจผลักดันให้มี Startup เกิดขึ้นมากเท่าที่จะทำได้

อย่างไรก็ดี สตาร์ทอัพ นั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายขนาดนั้น เพราะต้องใช้ทุนสูงบวกกับไอเดียที่แปลกใหม่ จึงมีสตาร์ทอัพจำนวนไม่น้อยที่ทำได้เพียงแต่ ‘Start’ แต่ไม่สามารถ ‘up’ หรือเติบโตขึ้นมาได้ดังใจหวัง ถึงแม้มีตัวอย่างที่พิสูจน์แล้วว่าโมเดลธุรกิจนี้เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์ในมิติสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมก็ตาม

‘ภาครัฐ’ เป็นตัวกลางสำคัญที่มีศักยภาพมากพอที่จะร่วมลงมาเล่นในเส้นทางธุรกิจนี้ ผ่านการสนับสนุนด้วยนโยบายอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรม เป็นตัวช่วยชั้นดีที่หนุนหลังผู้ประกอบการสตาร์ทอัพไปสู่ฝั่งฝันได้ง่ายขึ้น เมื่อสตาร์ทอัพเติบโตอย่างที่ควรจะเป็น ท้ายที่สุดก็จะเป็นประโยชน์แก่ประเทศชาติต่อไป

#88SANDBOX ชวนทุกคน ส่อง! นโยบายซัพพอร์ต Startup แต่ละประเทศ
ถอดบทเรียนจากนโยบายรัฐที่ทำให้สตาร์ทอัพยิ่งเติบโตไว และไปได้ไกลบนเวทีโลก !

1) เกาหลี 🇰🇷
เกาหลีก้าวขึ้นมาเป็น Top 5 ของประเทศที่มีจำนวนยูนิคอร์นสูงสุงถึง 12 ราย หลังจากที่รัฐให้ความสำคัญและต้องการสร้างเกาหลีให้เป็น ‘ประเทศสตาร์ทอัพ’ นำไปสู่การจัดตั้งกระทรวง SMEs และ Startup ที่จะสนับสนุนด้านเงินทุนผ่าน VC และ CVC กว่า 200 ราย ให้พื้นที่ประกอบการ และมอบสวัสดิการที่เอื้อต่อการเติบโตของ Startup

นอกจากนี้ การขับเคลื่อน Startup ฉบับแดนโสม ยังมีการออกนโยบายอีกหลายอย่างเพื่อตอบโจทย์ผู้ประกอบการขนาดเล็ก เช่น อนุญาตให้ผู้ชายทำงานเป็น Developer ใน Startup แทนการเข้ากรม ลดภาษีนิติบุคคลของ Startup ให้เงินสนับสนุนด้าน R&D 26 ล้านบาท/ราย โปรแกรมที่สนับสนุนการจัดตั้งออฟฟิศ เป็นต้น

2) ชิลี 🇨🇱
รัฐบาลชิลีมีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีและสารสนเทศอย่างจริงจังมาตลอดหลายปี ซึ่งระบบโครงข่ายเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพดีกลายเป็นปุ๋ยชั้นยอดที่มอบโอกาสเติบโตให้แก่ต้นไม้ที่ชื่อ ‘Startup’ จนชิลีได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Chilecon Valley’ และถูกยกให้เป็นต้นแบบในการพัฒนาและใช้เทคโนโลยีเป็นกลไกในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

นโยบายที่สำคัญ คือ การเปิดโอกาสให้กับ Startup ทั้งใหม่และเก่าที่ต้องการต่อยอดเทคโนโลยีไปสู่ระดับสากล สามารถขอรับการสนับสนุนเงินทุนและสถานที่ทำงาน ไปถึงจัดให้คำปรึกษา และจัดหลักสูตรอบรมภายใต้โครงการ “Start Up Chile” ซึ่งเริ่มต้นไปแล้วกว่า 1,400 ราย รวมเป็นเงินกว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

นอกจากนี้ยังมีสวัสดิการให้สิทธิลดหย่อนภาษี 35% กับค่าใช้จ่ายในด้าน R&D และออกแบบโปรแกรมพัฒนาเฉพาะ สำหรับธุรกิจที่มีผู้ก่อตั้งเป็นผู้หญิง ส่งผลให้ประเทศชิลีกลายเป็นศูนย์กลางแห่งนวัตกรรมของผู้ประกอบการประจำภูมิภาคลาตินอเมริกา

3) สิงคโปร์ 🇸🇬
สิงคโปร์เป็นประเทศที่เป็นมิตรกับธุรกิจ Startup อย่างมาก เพราะรัฐบาลเริ่มประกาศนโยบายสำหรับการสนับสนุนผู้ประกอบการมากขึ้นทั้ง SMEs และ Startup ทั้งสิทธิประโยชน์ทางภาษี และสิทธิประโยชน์อื่น ๆ มากมาย กระทั่งได้รับการจัดอันดับให้เป็นที่ 1 ในด้านพรสวรรค์ และอันดับ 12 ในด้านสภาพแวดล้อมโดยรวมในการจัดลำดับประเทศที่มีศักยภาพดีที่สุดในการพัฒนา Startup โดย The Global Startup Ecosystem Report and Ranking ปี 2017

ด้านนโยบายสิทธิประโยชน์ทางภาษี สิงคโปร์ยกเว้นภาษีสำหรับธุรกิจ Startup ที่เข้าเงื่อนไข และสิทธิอื่น ๆ เช่น รัฐให้คำแนะนำในการพัฒนา Startup และปล่อยเงินกู้เงินแก่เจ้าของธุรกิจ โดยไม่ต้องแบ่งหุ้นให้ของธุรกิจให้แก่รัฐ ตั้งหน่วยงานรัฐเพื่อเป็นตัวกลางในการจัดหาเงินทุน มีกองทุนดูแล และจัดการด้านเครื่องไม้เครื่องมืดอำนวยความสะดวกในการประกอบกิจการ ถือเป็นเป็นสถานที่ที่เอื้อประโยชน์ให้กับการดำเนินธุรกิจ Startup มากที่สุดแห่งหนึ่งในโลก

4) สหรัฐอเมริกา 🇺🇸
ตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีโอบามา สหรัฐเริ่มให้ความสำคัญกับการผลักดัน Startup อย่างจริงจัง มีการจัดตั้งโปรเจค “Startup America” ซึ่งเป็นโครงการริเริ่มของ Whitehouse เพื่อสนับสนุนผูประกอบการในสหรัฐฯ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมของชาติ

หลังจากนั้นรัฐบาลได้เริ่มเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดหาแหล่งเงินทุนจำนวนมหาศาลโดยหวังเพิ่มจำนวนจำนวนและขนาดของธุรกิจใหมที่มีศักยภาพเติบโตได้อยางรวดเร็ว สหรัฐฯ สนับสนุนเงินด้าน R&D แก่ธุรกิจกว่า 4.9 ล้านล้านบาท รวมไปถึงการสนับสนุนด้านองค์ความรู้ให้สามารถนำงานวิจัยมูลค่ากว่า 148 พันล้านเหรียญสหรัฐมาใช้ในเชิงพาณิชย์ มีการเปิดคอร์สสอนผู้ประกอบการรุ่นใหม่ฟรี

โครงการที่สร้างเสียงฮือฮา คือ Startup NASA ที่อนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถใช้เทคโนโลยีลิขสิทธิ์ของ NASA ไปทำธุรกิจได้ โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเริ่มต้น โดยผูประกอบการสามารถขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่และใช้สถานที่ขององค์การ NASA เมื่อต้องการได้ ผลลัพธ์ คือ ธุรกิจ Startup มีอัตราที่เพิ่มขึ้น 24% จากปี 62

5) กัมพูชา 🇰🇭
ประเทศเพื่อนบ้านอย่าง ‘กัมพูชา’ เป็นอีกประเทศหนึ่งที่ Technology Startup Ecosystem เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและเป็นที่น่าจับตามองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เนื่องจากประชากรอายุน้อยที่มากขึ้น และมีการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตมากขึ้นด้วยต้นทุนที่ไม่สูง ทำให้ Startup เริ่มเติบโตเร็วขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจด้านการเงิน มีจำนวนกว่า 50 ราย รองลงมามีสื่อด้านดิจิทัล โฆษณา อีคอมเมิร์ซ และการขนส่ง

รัฐบาลเล็งเห็นโอกาสจึงได้ผลักดันนโยบายเพื่อเร่งการเติบโตมากขึ้น โดยก่อตั้งสมาคม Fintech ในประเทศ ช่วยให้คำปรึกษาเชิงนโยบายแก่ภาครัฐและบ่มเพาะองค์ความรู้แก่บรรดาผู้ประกอบการ Startup รวมถึงเป็นตัวกลางเชื่อมโยงธุรกิจ นักลงทุน และทรัพยากรบุคคล

วัตถุประสงค์เพื่อพัฒนา Ecosystem ในประเทศและสร้างความสัมพันธ์กับ Ecosystem ในต่างประเทศ เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ พัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีให้เยาวชน รวมทั้ง สนับสนุนเงินทุนด้านเทคโนโลยีจำนวนกว่า 300 ล้านบาท เรียกได้ว่าในอุตสาหกรรม Fintech โลก กัมพูชาคือม้ามืดที่ประมาทไม่ได้ ซึ่งล่าสุด Fintech Startup ของกัมพูชาก็ติดอันดับ Top 10 ในเอเชียเป็นที่เรียบร้อย

จะเห็นได้ว่า นโยบายรัฐที่เป็นผลดีอย่างยิ่งของการเริ่มต้นธุรกิจสตาร์ทอัพ โดยเฉพาะการก่อตั้ง Startup Ecosystem เพื่ออำนวยความสะดวกในการเข้าถึงทรัพยากร เงินทุน องค์ความรู้ เทคโนโลยี

“เมื่อเมล็ดพันธุ์แห่ง Startup ถูกเพาะในสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศที่เหมาะสม จึงไม่ใช่เรื่องเกินฝันที่จะปั้น Startup ให้ประสบความสำเร็จ”